เทคนิคการผลิตเมล็ดพันธุ์มะละกอ

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเป็นการเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ดีให้มีมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์พืชที่ดีในการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้มากขึ้นและตรงความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ใช้ผลผลิตนั้น ลองมาดูกันว่า เทคนิคการผลิตเมล็ดพันธุ์มะละกอ มีวิธีการผลิตอย่างไรกันบ้าง เริ่มตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา การเก็บผลผลิต

วิธีการปลูก

1. การเลือกพื้นที่ปลูกให้ห่างจากแปลงมะละกอพันธุ์อื่นอย่างน้อย 800 ม. เพื่อป้องกันพันธุ์ปนจากการผสมข้าม

2. การเตรียมดิน ไถและพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช ถ้าดินมีค่า pH ต่ำกว่า 6.0 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ในอัตรา 200-300 กก./ไร่ คลุกดินโดยการไถพรวน แล้วทิ้งไว้ 10-15 วัน หลังจากนั้นไถยกร่องสูง 20-30 ซม. กว้าง 1.5 ม. (ระยะระหว่างกลางสันร่อง 2.5-3.0 ม.) เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณหลุมปลูก

3. การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกลางร่องปลูกขนาด 50 x 50 x 50 ซม. ระยะระหว่างหลุม 2.0-2.5 ม. ใส่แกลบดิบและแกลบเผาอย่างละ 0.5 ปี๊บ กระดูกผ่านกรรมวิธีอบไอน้ำ   

(แบทมูนซูเปอร์)  ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 5 กก. หินฟอสเฟตบด 1 กก. และปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ซาโกร 150 ก. ผสมดินในหลุมปลูกกับวัสดุปรับปรุงดิน รดน้ำให้ชื้นและยุบตัวดี หว่านเชื้อไตรโคเดอร์มา50-100 ก./หลุม เพื่อลดการสูญเสียจากโรครากเน่า โคนเน่า คลุมบริเวณหลุมด้วยฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงปลูกได้

4. การเพาะกล้าและย้ายกล้าปลูก คลุกเมล็ดพันธุ์มะละกอด้วยสารกำจัดเชื้อราเมทาแลกซิล เพาะเมล็ดในถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว 3 ต้น/ถุง เมื่อต้นกล้าอายุ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ปลูกต้นกล้าที่เตรียมไว้หลุมละ 3 ต้น ไม่ควรปลูกลึกจะทำให้รากเน่า

5. การคัดเพศ เมื่อมะละกอแสดงเพศแล้วจึงถอนแยกให้เหลือต้นกะเทยผลยาวไว้หลุมละ 1 ต้น

การปฏิบัติดูแลรักษา

1. การใส่ปุ๋ย ก่อนติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กก./หลุม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 อัตรา 1.2 กก./ต้น/ปี โดยแบ่งเดือนละครั้งๆ ละ 50-150 ก./หลุม แล้วแต่อายุพืช หลังติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กก./หลุม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-10-21 อัตรา 150 กก./หลุม เดือนละครั้ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งต้นใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-17 อัตรา 150-200 กก./ต้น/เดือน นอกจากนี้อาจให้ปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารรอง ฟีโตแคป และ มิราเคิล พ่นทุกสัปดาห์ วิธีใส่ปุ๋ย หว่านรอบโคนต้นภายในทรงพุ่มและพรวนดินเบาๆ อย่าให้กระทบกระเทือนราก

2. การให้น้ำและการระบายน้ำ ในฤดูแล้งต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดอย่าให้ดินแห้งในช่วงฤดูฝน ถ้าฝนทิ้งช่วงต้องให้น้ำ แต่ถ้าฝนตกหนักจะต้องดูแลการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น โดยเสริมร่องปลูกให้สูงอยู่เสมอ

3. การกำจัดวัชพืช ไม่ควรใช้จอบถางบริเวณโคนต้น เพราะรากจะถูกตัดขาดโรคเข้าทำลายได้ แต่ต้องกำจัดวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีวัชพืชขึ้น นอกทรงพุ่มต้องใช้เครื่องตัดหญ้าหรือมีดตัดให้สั้น การคลุมโคนต้น ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้นและหมั่นเติมฟางอยู่เสมอจะช่วยลดวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน

4. การป้องกันกำจัดโรคแมลง ในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังปลูกมักพบโรครากเน่าและโคนเน่า จึงควรราดโคนต้นด้วยสารเคมีเมทาแลกซิลหรือเทอร์ราคลอซูเปอร์เอ็กซ์หรืออาลีเอท ในช่วงฝนตกชุกก็เช่นเดียวกันจะมีโรครากเน่าโคนเน่าระบาดมากแม้มะละกอจะออกดอกหรือติดผลแล้ว จึงต้องราดโคนด้วยสารเคมี ทุกๆ 15 วัน การหว่านเชื้อไตรโคเดอร์มาก่อนปลูกและหว่านซ้ำทุกๆ 4 เดือน จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงกว่าครึ่ง การพ่น สารเคมีทางใบเพื่อป้องกันกำจัดแมลงหรือเชื้อรา ต้องระมัดระวังเนื่องจากใบมะละกออาจไหม้ได้ จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

5. การเก็บเกี่ยว มะละกอเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีสีผิวเปลี่ยนจากเขียวเป็นเขียวอ่อน หรือเมื่อปรากฏแต้มสีเหลืองบริเวณปลายผลดอกที่พร้อมจะผสมเกสร

1. ดอก reduced elongata คือ ดอกสมบูรณ์เพศที่ทำหน้าที่เป็นดอกตัวผู้ มีลักษณะกลีบดอกแข็งมีเกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมียขนาดเล็ก ดอกชนิดนี้ไม่มีการติดผล ดอกที่พร้อมจะนำไปผสมได้กลีบดอกจะเป็นสีครีมทั้งหมด มีละอองเกสรติดอยู่ที่ปลายของก้านชูละอองเกสรเป็นดอกที่บานแล้ว

2. ดอก elongata คือ ดอกสมบูรณ์เพศ (กระเทย) ที่ให้ผลยาว มีลักษณะรังไข่ขนาดยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เรียงเป็น 2 วง เกิดบนขอบกลีบดอกด้านใน ดอกที่พร้อมจะผสมได้จะมีลักษณะสีขาวทั้งหมด หรือเป็นสีครีม ถ้าดอกชนิดที่ยังอ่อน กลีบดอกจะเป็นสีเขียวอ่อน ดอกที่พร้อมจะผสมจะเป็นดอกที่กำลังจะบาน คือ ก่อนบาน 1 วัน

 วิธีผสมเกสร

1. ในระยะที่ปลายกลีบดอกของดอกสมบูรณ์เพศเริ่มแย้มออกแต่ยังไม่บาน ให้เด็ดดอกสมบูรณ์เพศที่ทำหน้าที่ดอกตัวผู้จากต้นเดียวกันหรือจากต้นสมบูรณ์เพศใกล้เคียงมา เพื่อเป็นแหล่งของละอองเกสรตัวผู้โดยเด็ดกลีบดอกออกเหลือไว้เพียงช่ออับละอองเกสรตัวผู้ที่แก่เต็มที่ (เมื่อเคาะลงบนฝ่ามือจะเห็นเป็นละอองคล้ายแป้งสีเหลืองอ่อน)

2. ป้ายเบาๆ ลงบนยอดเกสรตัวเมียของดอกสมบูรณ์เพศ

3. เวลาในการช่วยผสมเกสร ควรเป็นช่วงเวลาเช้า ก่อนเวลา 10.00 น.

การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์

1. ทำการเก็บผลผลิตเมื่อผลมะละกอปรากฏสีเหลือง 25-30% หรือมีสีเหลืองหนึ่งในสี่ของผลนำมาบ่มไว้ 2-3 วัน จนมะละกอสุกเต็มที่แล้วผ่าขูดเอาเมล็ดออก

2. นำเมล็ดที่ได้มาแช่ในน้ำสะอาดให้ท่วมเมล็ด หมักไว้ 1 คืน ไม่ควรหมักเมล็ดไว้นาน เพราะจะทำให้เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ

3. ล้างเมล็ดโดยนำเมล็ดมาใส่ถาดที่มีรู หรือตาข่ายสีเขียว สวมถุงมือขยี้หรือใช้ยางบดเบาๆ เพื่อแยกเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออก

4. นำเมล็ดที่แยกเยื่อหุ้มเมล็ดออกแล้วมาเทลงในน้ำ เลือกไว้เฉพาะเมล็ดดีที่จมน้ำ ทิ้งเมล็ดที่ลีบและที่ลอยน้ำไป

5. นำเมล็ดที่ดีซึ่งเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์และสะอาด ใส่ถาดหรือกระด้งไม้ไผ่นำไปผึ่งในที่ร่มมีลมถ่ายเท ประมาณ 2-3 วัน เมล็ดจะแห้ง

6. ทำความสะอาดเมล็ดโดยนำเมล็ดที่แห้งดีแล้วมาร่อนเอาผงฝุ่น และสิ่งเจือปนอื่นๆ ออก

7. ตรวจสอบคุณภาพเมล็ด โดยการหาเปอร์เซ็นต์ความงอก และเปอร์เซ็นต์ความชื้น

วิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

 เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์มะละกอในถุงพลาสติก เก็บในโรงเก็บปรับอากาศ โดยมีการปรับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ให้เหมาะสม